คำแสด

Bixa orellana Linn (Bixaceae), Anatto Tree.

คำแสด
คำแสด

คำแสด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กใบคล้ายใบโพธิ์ ใบบาง เกลี้ยงและนุ่ม สีเขียวเหลือบแดง ใบอ่อนสีเลือดหมู ต้นสูงประมาณ 10 ฟุต ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายยอดกิ่ง ดอกสีแดงปนขาวคล้ายดอกนางแย้ม กลีบดอกชั้นเดียว พอดอกแก่ผสมพันธุ์แล้วจะกลายเป็นผลสีน้ำตาลหรือแดงเข้มมีขนเต็มคล้ายลูกเงาะ เมล็ดในผลเล็ก ๆ เรียกลูกแสด

คำแสดมีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ในเมืองไทยมีชื่อพื้นเมืองหลายชื่อ กรุงเทพฯ เรียกคำเงาะ คำแงะ คำไทย คำแฝด เขมรเรียกคำยง เขมรสุรินทร์เรียกจำปู้ หรือส้มปู้ ทางใต้เรียกชาด จังหวัดเลยเรียกซิติหมัก ทางเหนือเรียกมะกายหยุม แสดเงี้ยว แม่ฮ่องสอนเรียกหมากมอง

คำแสดอาจปลูกเป็นไม้ประดับที่ให้ความงามทุกด้าน เช่นทรงพุ่มและใบที่มีสีสันน่าชม ดอกและผลก็งามสะดุดตา มักปลูกตามริมรั้วบ้านเป็นพุ่ม หรือปลูกเป็นพื้นหลังในการจัดสวน

เมล็ดคำแสดนำมาสกัดด้วยน้ำจะให้สีใช้แต่งสีเนย น้ำมัน ไอศกรีมและใช้ผสมในยาขัดหนังให้หนังมีสีแดงคล้ำ สีจากคำแสดเป็นสีที่ปลอดภัยใช้แต่งอาหารได้ นอกจากนี้ในทางสมุนไพรดอกคำแสดมีรสหวานใช้บำรุงโลหิต แก้ผิวหนังแสบร้อนคัน แก้พิษ อาจปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตแก้โรคโลหิตจางเป็นยาสมานแก้บิด แก้ไตพิการ เมล็ดใช้เป็นยาตัดไข้ แก้ลม เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นยาระบาย อนึ่งสีจากเมล็ดคำแสดนอกจากใช้แต่งสีอาหารแล้ว ยังอาจใช้ย้อมผ้าฝ้ายผ้าไหมได้อีกด้วย